Hub Net Zero ภายใต้การสนับสนุนของ วช. จัดการเสวนา “แนวทางการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร โดยการแปรรูปและใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร” เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยการเสวนานี้จัดขึ้นภายในงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนพลังสหวิทยาการ หรือ อว. แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND จัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผศ. ดร.สันติ เชื้อเต๊อะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ ผศ. ดร.วรพจน์ กนกกันฑพงษ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร. ชญานนท์ โชติรสสุคนธ์ จาก สวทช. เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ผู้เชี่ยวชาญได้นำเสนอศักยภาพของโรงกลั่นชีวภาพหรือ Biorefinery ในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการเกษตร Biorefinery เป็นการแปรรูปชีวมวลไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิเช่น อาหาร วัสดุชีวภาพ เคมีภัณฑ์ และพลังงาน สามารถนำมาใช้เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตรและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยมีการยกตัวอย่างการแปรรูปอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และเศษอาหาร (Food Waste) ด้วยกระบวนการทางกายภาพ เคมี และ/หรือชีวภาพนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังนี้

  1. อ้อย สามารถแปรรูปไปเป็น น้ำตาล เอทานอล กรดแล็กติกใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ไซโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ (XOS) ใช้ในอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ และ สารโพลิโคซานอลใช้ในอุตสาหกรรมยาและเวชสำอาง
  2. มันสำปะหลัง สามารถแปรรูปเป็น อาหาร (แป้งมันสำปะหลัง อาหารสัตว์) เชื้อเพลิงชีวภาพ (ไบโอเอทานอล) กรดอินทรีย์ เป็นต้น
  3. ปาล์มน้ำมัน สามารถแปรรูปเป็น อาหาร (น้ำมันปาล์ม) เชื้อเพลิงชีวภาพ (ไบโอดีเซล ไบโอแก๊ส) กลีเซอรีน เป็นต้น
  4. เศษอาหาร สามารถแปรรูปเป็น อาหารสัตว์ ปุ๋ยชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพ (ไบโอแก๊ส พลังงานไฮโดรเจน เอทานอล) พลาสติกชีวภาพ (PHA) กรดอินทรีย์ เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญยังได้กล่าวถึงประเด็นต่างๆ ของโรงกลั่นชีวภาพ ได้แก่การขยายขนาดกระบวนการผลิต (Process Scale-up) ซึ่งประกอบด้วยการออกแบบกระบวนการ (Process design) และการจำลองสถานการณ์ (Simulation) การประเมินความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐศาสตร์ (Techno-Economic Assessment) และการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA)

Biorefinery เป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bioindustry) ที่รัฐบาลส่งเสริมภายใต้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy; BCG) และเป็นระบบที่ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นอกจากการเสวนา Net Zero Hub ได้จัดแสดงนิทรรศการที่แสดงงานวิจัยและนวัตกรรมการแปรรูปและใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรภายในงาน อว. แฟร์ อีกด้วย โดยงาน อว. แฟร์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประกอบด้วย การประชุม บรรยาย เสวนา และนิทรรศการ

TH