เศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) เป็นโมเดลสำหรับการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแบ่งปัน ให้เช่าซื้อ นำกลับมาใช้ใหม่ ซ่อมแซม ปรับปรุงใหม่ และรีไซเคิลวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้มีอายุการใช้งานนานที่สุด ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบเศรษฐกิจเชิงเส้นดั้งเดิม นั่นก็คือ จากการใช้ทรัพยากรแบบ “ผลิต-ใช้-ทิ้ง” (Take-Make-Throw Away) เป็นแบบ “ผลิต-ใช้-วนกลับ” (Make-Use-Return) มีการประมาณการว่า การนำแนวปฏิบัติและกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกได้ 39% และลดแรงกดดันต่อการใช้ทรัพยากรใหม่ (Virgin Materials) ได้ 28% CE มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (CF) ซึ่งได้แก่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การใช้งาน และหลังการใช้งานของผลิตภัณฑ์ (End-of-life Product) หรือบริการ รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แฝงอยู่ในสินค้านำเข้า การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นกลางทางคาร์บอนต้องพยายามลด CF ในการบริโภคในภาคครัวเรือน กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศและการนำเข้า อย่างไรก็ตาม ในบางภาคส่วน การหาข้อมูลเกี่ยวกับ CF ที่มีความถูกต้องแม่นยำนั้นยังเป็นเรื่องท้าทาย จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาและประยุกต์ใชเทคโนโลยีในการวัดและประเมินต่อไป เช่น การรั่วไหลของก๊าซมีเทนจากการผลิตก๊าซธรรมชาติ ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีถ่ายภาพดาวเทียมแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในการวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงสามารถระบุตำแหน่งและวัดปริมาณการรั่วไหลเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ กำลังคนที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องมีความรู้และทักษะเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันยังมีแหล่งเรียนรู้ที่จำกัด