การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพมาก ปฏิบัติได้เร็ว และคุ้มค่าที่สุดในการประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซ CO2 นโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานมักอาศัยกลยุทธ์ต่างๆ ที่มุ่งลดการบริโภคหรือโหลด (Load) ในภาคส่วนการใช้งานโดยเฉพาะอาคาร อุตสาหกรรมและการขนส่ง นอกจากนี้ การเพิ่มการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคส่วนต่างๆ (Electrification) ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่มีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้ โดยสำนักงานพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) คาดการณ์ว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ผสมผสานกับการเพิ่มการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคส่วนต่างๆ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานได้กว่า 90% ภายในปี ค.ศ. 2050
และในยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล อุปกรณ์และข้อมูลดิจิทัลก็มีศักยภาพในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างมาก รวมทั้ง การปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจโลกก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้ใช้ศักยภาพของประสิทธิภาพพลังงานเหล่านี้อย่างเต็มที่ จำเป็นต้องดำเนินการตามนโยบายและแผนงานที่มีนวัตกรรม แนวปฏิบัติ มาตรฐานและข้อบังคับ ตลอดจนการพัฒนาและการประยุกย์ใช้โซลูชันทางเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมและเหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยกำลังที่มีความรู้และทักษะที่เหมาะสม ทันต่อเทคโนโลยีและแนวปฎิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ตัวอย่าง เช่น มีผู้รับผิดชอบด้านพลังงานซึ่งต้องมีอย่างน้อย 1 คน ประจำโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมแต่ละแห่งตามกฎหมายนั้น ควรได้รับการเพิ่มพูนทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการจัดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบคาร์บอนต่ำ เป็นต้น