การเปลี่ยนผ่านไปสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ (ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชน) ภายในกรอบเวลาที่กำหนดและเป็นกรอบเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นนั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนที่ประกอบด้วย การตั้งเป้าหมายที่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้เชิงวิทยาศาสตร์และเป้าประสงค์ในการลดคาร์บอนอื่นๆ และการกำหนดข้อริเริ่มและกลยุทธ์ที่ต้องการจะดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าประสงค์เหล่านั้น โดยก่อนที่จะกำหนดข้อริเริ่มและกลยุทธ์อย่างเป็นรูปธรรมนั้นอาจต้องคาดคะเนและทดสอบว่า ข้อริเริ่มและกลยุทธ์หรือมาตรการนั้นจะส่งผลกระทบต่อเป้าประสงค์อย่างไร และจะมีผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อกิจการและองค์กรอย่างไรด้วย เพื่อจะได้คิดหามาตรการรองรับได้อย่างเหมาะสม ซึ่งรวมทั้งความเข้าใจในกลไก “ตลาดคาร์บอน” (Carbon Market) หรือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วย และเมื่อเริ่มดำเนินการแล้ว จะต้องมีการตรวจประเมินผลหรือความก้าวหน้าเป็นระยะๆ เช่นเดียวกัน ในทุกระดับของการปกครอง ตั้งแต่ระดับประเทศลงไปจนถึงระดับจังหวัด อำเภอ และเทศบาล ก็จำเป็นที่จะต้องมีนโยบายและแผนขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านที่สอดคล้องกัน (Coherent)

นอกจากนี้ ยังเห็นได้ชัดว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ จำเป็นต้องมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย ทำให้ภารกิจดังกล่าวมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ อาจรวมถึงผู้กำหนดนโยบายในภาครัฐ นักธุรกิจที่ต้องตัดสินใจลงทุน ผู้วางแผน ผู้ออกแบบ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ดำเนินการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโซลูชั่นสะอาด ตลอดจน ภาคประชาสังคมที่ปกป้องสิทธิพลเมืองและผลประโยชน์ของสาธารณชน เป็นต้น

Scroll to Top