Hub of Talents
to Support Net Zero GHG Emissions

Researcher Information form

ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ครั้งที่ 9 นำเสนอแนวทางสู่เป้าคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ครั้งที่ 9 (The 9th International Conference on Sustainable Energy and Environment: SEE 2024) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ โดยบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ Kyoto University และหน่วยงานเครือข่าย JSGEE ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี Hub Net Zero ร่วมสนับสนุน

งานประชุมนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Securing a Sustainable Net-Zero Future Now” ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ได้แก่ ระบบพลังงานขั้นสูงและระบบไฟฟ้า พลังงานชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพ และโรงกลั่นชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืน การลดการปล่อยคาร์บอนในภาคต่างๆ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ เทคโนโลยีควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต และการกำกับดูแลและนโยบายสีเขียว

ในพิธีเปิด ศ.ดร. นวดล เหล่าศิริพจน์ และ Prof. Hideaki Ohgaki ได้กล่าวต้อนรับในฐานะประธานร่วมของคณะกรรมการจัดงาน และ รศ. ดร. สุวิทย์ แซ่เตีย และ Prof. Keiichi Ishihara ประธานร่วมของคณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติ ได้กล่าวต้อนรับเช่นเดียวกัน งานประชุมได้รับเกียรติจาก ดร.วีระวัฒน์ จันทนาคม อดีตผู้อำนวยการศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre for Energy: ACE) และที่ปรึกษาพิเศษ ของกระทรวงพลังงานของประเทศไทยเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Securing a Sustainable and Affordable Energy Transition for a Net-Zero Future in Thailand”

โปรแกรมงานประชุม SEE 2024 ประกอบด้วยปาฐกถาพิเศษ 8 หัวข้อ โดยผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากประเทศไทย สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น และสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) และการประชุมคู่ขนานที่มีการนำเสนองานวิจัยกว่า 80 หัวข้อที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

นอกจากนี้ งานประชุม SEE 2024 ยังมีไฮไลต์สำคัญๆ ได้แก่ การอภิปรายในหัวข้อ “ทักษะสีเขียวเพื่อเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในปี 2030” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในอนาคตเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ งานประชุมพิเศษเรื่องการจัดการขยะพลาสติก ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยและญี่ปุ่นนำเสนอแนวทางการจัดการ การรีไซเคิล และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ งานประชุมพิเศษเรื่องการนำแนวคิดตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Thinking: LCT) มาประยุกต์ใช้เพื่อนำไปสู่ความกลางทางคาร์บอนและความยั่งยืน งานประชุมพิเศษเรื่องการลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเน้นการนำเสนอการกักเก็บคาร์บอนในดิน นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดประชุมประจำปีของ JASTIP-W2 ที่นำเสนอผลงานวิจัยร่วมในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Work Package 2) ภายใต้ Japan-ASEAN Science, Technology and Innovation Platform (JASTIP) ซึ่ง JASTIP เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยเกียวโตริเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2558 ด้วยงบสนับสนุนจาก Strategic International Collaborative Research Program (SICORP) ที่บริหารโดย Japan Science and Technology Agency (JST)

SEE เป็นงานประชุมที่ริเริ่มโดย JGSEE และพันธมิตรในเครือ จัดขึ้นทุกสองปี โดยในปีนี้เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี มีผู้เข้าร่วมกว่า 250 คนจากประเทศไทย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

Scroll to Top