เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 รศ. ดร. สุนีรัตน์ ฟูกุดะ อาจารย์จาก JGSEE และสมาชิกของ Hub Net Zero ได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ระหว่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และ 7 องค์กรภาครัฐของไทยที่รับผิดชอบด้านนโยบาย ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC EMC) ที่มุ่งสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
พิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่โรงแรมเมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท กรุงเทพฯ โดยมีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ ได้แก่ ดร.แอ็นสท์ ไรเชิล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย, ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) และคุณอินซ่า อิลเก้น ผู้อำนวยการโครงการ TGC EMC
โครงการ TGC EMC ดำเนินการโดย GIZ และได้รับการสนับสนุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) สำหรับ 7 องค์กรไทยที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้ ได้แก่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยองค์กรเหล่านี้จะทำงานร่วมกันภายใต้แนวคิด “Sector Coupling” ซึ่งเป็นการบูรณาการภาคส่วนสำคัญเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และเป็นหัวข้อสำคัญของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การยกระดับการดำเนินงานร่วมกันของภาคพลังงานทดแทน คมนาคม ขนส่ง และอุตสาหกรรม (Sector Coupling)” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาล พันธมิตรร่วม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ เข้าร่วมอภิปรายและหารือโอกาสในการเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทย ในการนี้ ดร. สุนีรัตน์ ฟูกุดะ ได้ร่วมเสวนา แบ่งปันประสบการณ์และตัวอย่างเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้แนวคิด Sector Coupling จากมุมมองของภาคชีวมวล
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมจัดงานนี้ในฐานะพันธมิตรด้านเทคนิคของโครงการ TGC EMC และสมาชิกของ Hub Net Zero อาทิ รศ.ดร. บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร รศ. ดร.พิพัฒน์ ชัยวิวัฒน์วรกุล และดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ภายในงาน
ขอขอบคุณภาพข่าวจาก GIZ