Hub of Talents
to Support Net Zero GHG Emissions

Researcher Information form

งานประชุมนานาชาติ REA2024 นำเสนอความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนโดยผู้เชี่ยวชาญทั่วเอเชีย

ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดงานประชุมนานาชาติ The 20th Renewable Energy Asia Conference 2024 (REA2024) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ งานประชุมปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวความคิด Innovating ASEAN Towards a Net Zero and Climate-Resilient Future เป็นเวทีให้ผู้แทนจากภาคการศึกษา ภาครัฐ และเอกชนจากทั่วทั้งเอเชียมานำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการพัฒนาเทคโนโลยี นโยบายและการตลาดของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 191 คน

งานประชุมในช่วงเช้าประกอบด้วยการบรรยาย 3 เรื่องโดยผู้แทนจากกระทรวงพลังงานและจากภาคเอกชน  ได้แก่ นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานบรรยายเรื่อง Thailand’s New Power Development Plan 2024: A Step Closer to Net Zero ส่วน Dr. Peter du Pont จาก Asia Clean Energy Partners นำเสนอเรื่อง Corporate Decarbonization in Southeast Asia: A Key Driver of Clean Energy Across the Region และ Dr. Frank Richter จาก Greenectra ประเทศเอสโตเนียบรรยายเรื่อง The New EU Battery Regulation and a Discussion on Second-life Batteries.

ในช่วงบ่ายเป็นการบรรยายห้องย่อย 5 หัวข้อโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากไทยและต่างประเทศรวมกว่า 20 ท่านมาร่วมนำเสนอข้อมูล อาทิเช่น ดร. วิศาล ลีลาวิวัฒน์ จากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ดร.ชาญชัย อมรวิภาส จาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน Prof. Ir. Dr. Nasrudin Abd Rahim จาก Universiti Malaya Power Energy Dedicated Advanced Centre (UMPEDAC), Ms. Vicky Janssens จาก the Foundation for Climate Protection and Carbon Offset Klik, ศ. ดร.สโรช บุญศิริพันธ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ. ดร. เผ่าไทย สินอำพล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การบรรยายห้องย่อยที่ 1 เป็นเรื่อง Hydrogen, Sustainable Aviation Fuel (SAF), Bio-CCS and Bio-CCU ประกอบด้วยการบรรยายเกี่ยวกับงานวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนและ Bio-CCUS ไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพสูงและเป็นสารตั้งต้นสำคัญในอุตสาหกรรมเคมีและเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ในขณะที่ Bio-CCUS เป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่างพลังงานจากชีวมวลและการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่ง Bio-CCUS เป็นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (large-scale technology) ที่สามารถดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากบรรยากาศได้ในปริมาณมาก

การบรรยายห้องย่อยที่ 2 เป็นเรื่อง Clean Electricity Transition แม้ว่าประโยชน์ของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานสะอาดจะเป็นที่ประจักษ์แต่การเปลี่ยนผ่านในอุตสาหกรรมพลังงานในภูมิภาคอาเซียนเป็นไปอย่างเชื่องช้าเนื่องจากนโยบาย กฎระเบียบ และยุทธศาสตร์การตลาดที่ยังล้าหลังทำให้ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนในเรื่องนี้ได้ดี  การบรรยายในห้องย่อยนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานหลักในภูมิภาคอาเซียนมาร่วมนำเสนอนโยบาย กฎระเบียบ และยุทธศาสตร์การตลาดที่ส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

การบรรยายห้องย่อยที่ 3 เป็นเรื่อง Industrial Decarbonization ภาคอุตสาหกรรมเป็นแหล่งใหญ่ที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นผู้เล่นที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยภาคธุรกิจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสำคัญตั้งแต่การเลือกใช้แหล่งพลังงานไปจนถึงตัวผลิตภัณฑ์และบริการ การบรรยายในห้องย่อยนี้มีผู้แทนจากภาควิจัยและอุตสาหกรรมมาร่วมนำเสนอนวัตกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในภาคอุตสาหกรรม

การบรรยายห้องย่อยที่ 4 เป็นเรื่อง Decarbonization in Transport โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางและโครงการที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่ง ได้แก่ การชดเชยคาร์บอน หรือ คาร์บอนออฟเซ็ต และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบการเดินทางในเมือง (urban mobility)

การบรรยายห้องย่อยที่ 5 เป็นเรื่อง Climate Adaptation and Mitigation in Agriculture-Forest-Land Use Sector (AFOLU): Implication of Nature-based Solutions (NbS)  ที่มุ่งเน้นไปที่การใช้กระบวนการทางธรรมชาติเพื่อสนับสนุนการปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรและป่าไม้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลและตัวอย่างโครงการที่กำลังดำเนินการ

งานประชุมนานาชาติ Renewable Energy Asia (REA) Conference จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2548 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) และ UBM Asia (ปัจจุบันคือ Informa Markets) หน่วยงานร่วมจัดในปีนี้ประกอบด้วย JGSEE ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม (CEE-PERDO) ศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (THAI-GLOB) ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ Informa Markets

Scroll to Top