อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการเกษตรหลักของประเทศไทย โดยประเทศไทยมีผลผลิตน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกและมีห่วงโซ่การผลิตที่ครบวงจร ซึ่งประกอบด้วย เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ อาทิ อุตสาหกรรมไบโอดีเซล อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
ในขั้นตอนการแปรรูปปาล์มน้ำมันเป็นน้ำมันพืชปาล์มโอเลอินสำหรับบริโภคและไบโอดีเซลจะได้กรดไขมันปาล์ม (PFAD) และกลีเซอรินเป็นผลผลิตพลอยได้จากกระบวนการผลิต การใช้ประโยชน์จากผลผลิตพลอยได้เหล่านี้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อแปรรูปกรดไขมันปาล์มเหลือทิ้งเป็นสารซักล้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green industrial detergents) เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์พลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันพืชและนำไปสู่การพัฒนาในรูปแบบอุตสาหกรรมโอลิโอเคมิคอล ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มได้ในอนาคต
งานวิจัยในโครงการนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
- การพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับการแปรสภาพกรดไขมันปาล์มเป็นสารซักล้างอุตสาหกรรมในกลุ่มเมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนต (MES) โดยนำกรดมีเทนซัลโฟนิก (MSA) มาใช้ทดแทนกรดซัลฟูริกที่มีฤทธิ์กัดกร่อนและสร้างมลพิษสูงกว่า
- การขยายขนาดการผลิตในเครื่องปฏิกรณ์ขนาด 300 ลิตร
- การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้น
โดยโครงการจะส่งมอบต้นแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการต้นแบบสำหรับการผลิตสารซักล้างที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่พร้อมนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์
โครงการวิจัยนี้มีบริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับโครงการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างครบวงจรที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทยมาร่วมทำวิจัยและพัฒนา โครงการได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)